ในลำไส้ของมนุษย์มีจุลินทรีย์หลายล้านล้านเซลล์ที่เรียกว่าไมโครไบโอม ซึ่งเป็นระบบนิเวศซับซ้อนที่ประกอบด้วยแบคทีเรีย เชื้อรา ไวรัส และสิ่งมีชีวิตเล็ก ๆ อื่น ๆ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการรักษาสุขภาพโดยมีผลต่อการย่อยอาหาร ระบบภูมิคุ้มกัน และแม้แต่อารมณ์และสุขภาพจิต ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา การวิจัยพบว่าความสัมพันธ์ของไมโครไบโอมในลำไส้กับการเกิดมะเร็งนั้นมีความสำคัญอย่างมาก โดยพบว่ามีบทบาททั้งในแง่ของปัจจัยเสี่ยงและเป้าหมายที่มีศักยภาพในการป้องกันและรักษามะเร็ง

ไมโครไบโอมในลำไส้ คืออะไร?

ไมโครไบโอมในลำไส้ คือ กลุ่มจุลินทรีย์หลากหลายชนิดที่อาศัยอยู่ในทางเดินอาหาร โดยเฉพาะในลำไส้ใหญ่ ไมโครไบโอมแต่ละคนไม่เหมือนกันและได้รับอิทธิพลจากปัจจัยต่าง ๆ เช่น พันธุกรรม อาหาร สิ่งแวดล้อม และวิถีชีวิต

หน้าที่สำคัญของไมโครไบโอม

  • ย่อยสลายคาร์โบไฮเดรตและไฟเบอร์ซับซ้อนเพื่อผลิตสารที่มีประโยชน์ เช่น กรดไขมันสายสั้น
  • สร้างวิตามิน เช่น วิตามินเค และวิตามินบีบางชนิด
  • กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันและทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันเชื้อโรคที่เป็นอันตราย

เมื่อไมโครไบโอมถูกรบกวนทำให้เกิดความไม่สมดุล หรือที่เรียกว่า ภาวะ dysbiosis จะสามารถส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ได้ เช่น โรคอ้วน เบาหวาน และโรคลำไส้อักเสบ และในปัจจุบันยังพบว่ามีบทบาทในการก่อมะเร็งอีกด้วย

ความเชื่อมโยงระหว่างไมโครไบโอมในลำไส้กับความเสี่ยงต่อมะเร็ง

ความสัมพันธ์ระหว่างไมโครไบโอมในลำไส้กับความเสี่ยงต่อมะเร็งมีความซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายกระบวนการ ดังนี้

การอักเสบเรื้อรัง : จุลินทรีย์บางชนิดในลำไส้สามารถกระตุ้นการอักเสบ เมื่อมีมากเกินไปหรือเมื่อไมโครไบโอมขาดสมดุล การอักเสบเรื้อรังอาจทำให้เกิดการเสียหายของ DNA และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการเกิดมะเร็ง เช่น โรคลำไส้อักเสบที่สัมพันธ์กับการอักเสบเรื้อรัง เพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่และพบว่ามีความสัมพันธ์กับไมโครไบโอมในลำไส้

การผลิตสารก่อมะเร็ง : จุลินทรีย์บางชนิดสามารถผลิตสารที่เป็นสารก่อมะเร็งได้ เช่น จุลินทรีย์บางชนิดในลำไส้สามารถเปลี่ยนกรดน้ำดีให้กลายเป็นสารอนุพันธ์ที่พบว่ามีความสัมพันธ์กับการเพิ่มกับความเสี่ยงของมะเร็งลำไส้ใหญ่ได้

การควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน : ไมโครไบโอมในลำไส้มีบทบาทสำคัญในการปรับและควบคุมระบบภูมิคุ้มกัน จุลินทรีย์บางชนิดช่วยกระตุ้นการทำงานของภูมิคุ้มกัน ขณะที่บางชนิดยับยั้งการทำงานของภูมิคุ้มกัน และภูมิคุ้มกันที่มีประสิทธิภาพจะสามารถตรวจจับและทำลายเซลล์ที่ผิดปกติ เช่น เซลล์มะเร็งระยะเริ่มต้นก่อนที่จะเติบโตเป็นก้อนมะเร็ง แต่เมื่อไมโครไบโอมเสียสมดุล ภาวะ dysbiosis หรือความไม่สมดุลจะสามารถลดประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เซลล์มะเร็งหลุดรอดจากการตรวจจับได้

อิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมของเนื้องอก : ไมโครไบโอมมีอิทธิพลต่อสภาพแวดล้อมของเนื้องอกโดยมีผลต่อการอักเสบ การเข้าถึงของเซลล์ภูมิคุ้มกัน และปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลส่งเสริมการเจริญของมะเร็ง โดยมีงานวิจัยที่พบว่าแบคทีเรียบางสายพันธุ์สามารถมีฤทธิ์กระตุ้น หรือยับยั้งการเจริญของเนื้องอกได้โดยการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมรอบๆ ก้อนเนื้องอก

ชนิดของมะเร็งมีความสัมพันธ์กับไมโครไบโอมในลำไส้

เริ่มมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่ามะเร็งบางชนิดอาจมีความสัมพันธ์กับไมโครไบโอมในลำไส้ ดังนี้

มะเร็งลำไส้ใหญ่ : เป็นมะเร็งชนิดที่พบความสัมพันธ์ที่ชัดเจนที่สุด มีการศึกษาที่พบว่าจุลินทรีย์บางชนิด เช่น Fusobacterium nucleatum จะสามารถพบได้บ่อยครั้งในเนื้อเยื่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ โดยเชื่อกันว่าแบคทีเรียชนิดนี้ส่งเสริมการเจริญเติบโตของเนื้องอกโดยเพิ่มการอักเสบและรบกวนการตอบสนองของภูมิคุ้มกัน

มะเร็งตับ: ภาวะไมโครไบโอมเสียสมดุล (Dysbiosis) สามารถส่งผลต่อการผลิตและการเปลี่ยนแปลงของกรดน้ำดี ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของมะเร็งตับ โดยเกิดจากสารที่ผลิตจากจุลินทรีย์ในลำไส้ ซึ่งสามารถเข้าถึงตับได้ทางกระแสเลือด ทำให้เกิดการอักเสบในตับและเพิ่มความเสี่ยงต่อมะเร็ง

มะเร็งเต้านม : มีการวิจัยที่สำคัญพบว่ามีความเป็นไปได้สูงที่ไมโครไบโอมในลำไส้มัความสัมพันธ์กับการเกิดมะเร็งเต้านม เนื่องจากจุลินทรีย์บางชนิดผลิตสารที่คล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งอาจมีผลต่อระดับฮอร์โมน ในขณะที่จุลินทรีย์บางชนิดย่อยฮอร์โมนเอสโตรเจนจึงส่งผลต่อความเสี่ยงต่อมะเร็งเต้านม

มะเร็งกระเพาะอาหาร : แบคทีเรีย Helicobacter pylori เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นสาเหตุของแผลในกระเพาะอาหารและถูกจัดว่าเป็นสารก่อมะเร็งเนื่องจากมีความสัมพันธ์กับมะเร็งกระเพาะอาหาร โดยการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในเยื่อบุของกระเพาะอาหาร

ไมโครไบโอมกับอาหาร และการป้องกันมะเร็ง                                          

หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อไมโครไบโอมในลำไส้ คืออาหาร การรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผัก ผลไม้ และธัญพืชไม่ขัดสี เหล่านี้ช่วยส่งเสริมให้จุลินทรีย์ที่มีประโยชน์สร้างสารต้านการอักเสบ ช่วยลดความเสี่ยงต่อมะเร็ง ในขณะที่อาหารที่มีเนื้อแดงและเนื้อแปรรูป ไขมัน และน้ำตาลสูง มีความสัมพัทธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ เนื่องจากมีผลต่อสมดุลของไมโครไบโอมในลำไส้และการผลิตสารที่เป็นอันตรายต่อร่างกาย

ไมโครไบโอมกับเป้าหมายในการรักษามะเร็ง

จากอิทธิพลของไมโครไบโอมต่อการเกิดและการดำเนินไปของมะเร็ง นักวิจัยจึงทำการศึกษาเพื่อหาวิธีปรับเปลี่ยนไมโครไบโอมเพื่อป้องกันและรักษามะเร็ง วิธีการดังกล่าวรวมถึง วิธีการต่อไปนี้

โปรไบโอติกและพรีไบโอติก : โปรไบโอติกซึ่งประกอบด้วยจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ และพรีไบโอติกซึ่งเป็นใยอาหารที่เลี้ยงจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ กำลังถูกศึกษาถึงศักยภาพในการฟื้นฟูสมดุลในไมโครไบโอมและลดความเสี่ยงต่อมะเร็ง

การปลูกถ่ายจุลินทรีย์ในลำไส้ : การปลูกถ่ายจุลินทรีย์จากผู้บริจาคที่มีสุขภาพดีไปยังผู้รับเพื่อฟื้นฟูสมดุลของไมโครไบโอม พบว่ามีศักยภาพในการช่วยปรับปรุงการตอบสนองต่อการรักษามะเร็ง โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยภูมิคุ้มกันบำบัด เช่น melanoma

การรักษาด้วยภูมิคุ้มกันโดยใช้ไมโครไบโอม : ไมโครไบโอมสามารถส่งผลต่อประสิทธิภาพของการรักษาด้วยภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นการรักษาที่ใช้หลักการโดยให้ระบบภูมิคุ้มกันรับรู้และต่อสู้กับเซลล์มะเร็ง จากการศึกษาพบว่าจุลินทรีย์บางชนิดสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของการรักษาด้วยภูมิคุ้มกัน นักวิจัยจึงเร่งทำการค้นคว้าเพื่อหาวิธีในการปรับสมดุลไมโครไบโอมเพื่อให้ผลลัพธ์ในการรักษาผู้ป่วยมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ความท้าทายและทิศทางในอนาคต

แม้ว่าความเชื่อมโยงระหว่างไมโครไบโอมกับมะเร็งจะมีแนวโน้มของความเป็นไปได้สูง แต่ก็ยังมีความท้าทายอยู่มาก เนื่องจากไมโครไบโอมในแต่ละบุคคลมีความแตกต่างกัน ทำให้ยากที่จะพัฒนาการรักษาที่เหมาะสมสำหรับทุกคน นอกจากนี้ เรายังเพิ่งเริ่มเข้าใจความสัมพันธ์ที่ซับซ้อนระหว่างจุลินทรีย์แต่ละชนิดและผลกระทบต่อมะเร็ง การวิจัยในอนาคตจึงมุ่งเน้นไปที่การรักษาโดยใช้ไมโครไบโอมแบบเฉพาะบุคคล โดยพิจารณาองค์ประกอบของไมโครไบโอมในแต่ละบุคคล การรับประทานอาหาร วิถีชีวิต และพันธุกรรม

บทสรุป

ไมโครไบโอมในลำไส้ยังถือเป็นเรื่องใหม่ในการทำความเข้าใจความเสี่ยง การป้องกัน และการรักษามะเร็ง แม้ยังมีสิ่งที่ต้องทำการศึกษาอีกมาก แต่เป็นที่ชัดเจนว่าไมโครไบโอมที่สมดุลมีบทบาทสำคัญในการรักษาสุขภาพและอาจลดความเสี่ยงต่อมะเร็งได้ การใช้ชีวิตวิถีสุขภาพดี รวมถึงการรับประทานอาหารที่มีความหลากหลายและมีกากใยสูง จะช่วยส่งผลในเชิงบวกต่อไมโครไบโอมของบุคคลนั้นและลดความเสี่ยงต่อมะเร็งได้ การศึกษาในอนาคตเกี่ยวกับการรักษาโดยใช้ไมโครไบโอมอาจเป็นทางเลือกใหม่ที่ปรับให้เหมาะสมสำหรับการป้องกันและรักษามะเร็ง ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาผลลัพธ์และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับผู้ป่วย

Share
Akesis Life - Integrative Oncology
Privacy Overview

This website uses cookies so that we can provide you with the best user experience possible. Cookie information is stored in your browser and performs functions such as recognising you when you return to our website and helping our team to understand which sections of the website you find most interesting and useful.