ป้องกันการเกิดซ้ำของมะเร็ง หลังการรักษาจบ

เมื่อมะเร็งกลับมาหลังการรักษาได้สิ้นสุดลง แพทย์จะให้คำวินิจฉัยว่า “เกิดการเป็นซ้ำของโรค” หรือ “มะเร็งกำเริบ” ซึ่งการกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็งย่อมก่อให้เกิดอาการตกใจ อาการวิตกกังวล อาการกลัวหรือภาวะซึมเศร้าตามมาได้

ระยะเวลาที่กลับมาเป็นซ้ำ

ในช่วง 5 ปีแรกหลังการรักษา คำอธิบายการกลับเป็นซ้ำของโรคมะเร็งที่เข้าใจง่ายคือ การรักษาในครั้งแรกไม่สามารถขจัดหรือทำลายเซลล์มะเร็งได้หมด แต่ไม่ใช่ว่าการรักษาที่ผ่านมานั้นผิด เพียงแต่ยังมีเซลล์ที่เล็ดลอดการรักษาไปได้ในปริมาณเล็กน้อยที่อาจตรวจไม่พบในช่วงการติดตามผลในระยะแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปเซลล์มะเร็งได้เริ่มเกาะรวมตัวกันจนกลายเป็นก้อนมะเร็งที่แพทย์สามารถตรวจพบได้อีกครั้ง

ในปัจจุบันเราแบ่งชนิดของการกลับเป็นซ้ำ ได้ 3 แบบ

  1. การกลับเป็นซ้ำแบบเฉพาะจุด (Local recurrence)
  2. การกลับเป็นซ้ำแบบขยายพื้นที่ (Regional recurrence)
  3. การกลับเป็นซ้ำแบบระยะกระจาย (Distant recurrence)

แนวทางการดูแลผู้ป่วย ต้องเริ่มการสืบค้นให้แน่ชัดว่าการกลับมาเป็นซ้ำเป็นแบบใด และ เซลล์ที่เป็นซ้ำยังมีลักษณะเดิมหรือไม่ ดังนั้นก็จะมีทั้งการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจอีกครั้งและการตรวจภาพรังสีต่างๆ เมื่อได้ข้อมูลครบแล้วการให้การรักษาก็จะแบ่งไปตามระยะของโรค ไม่ว่าจะเป็นการผ่าตัดซ้ำ การฉายรังสี หรือการให้เคมีบำบัด   เพื่อชะลอการลุกลามหรือการแพร่กระจายของโรค  โดยคำนึงถึงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นสำคัญ

อย่างไรก็ตามการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งที่กำลังรักษาตัวจนใกล้จะหาย ทั้งที่รักษาตนเองจนหายดีแล้ว เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจให้มากทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็งโรคร้ายที่ไม่มีใครอยากป่วย

การดูแลสุขภาพของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั้งที่กำลังรักษาตัวจนใกล้จะหาย ทั้งที่รักษาตนเองจนหายดีแล้ว เป็นสิ่งสำคัญที่ต้องใส่ใจให้มากทั้งนี้ก็เพื่อป้องกันการกลับมาเป็นซ้ำของโรคมะเร็งโรคร้าย

สิ่งแรกที่ผู้ป่วยทุกคนควรพิจารณาแม้ว่าจิตใจจะเศร้าและแสนทุกข์ขนาดไหนก็ตาม ต้องรู้ว่า “กำลังใจ” คือพลังสำคัญในการรักษาต่อ ล้มแล้วต้องลุก ไม่มีใครช่วยเราได้ นอกจากตัวเราเอง หมอเพียงแค่ทำหน้าที่นำสิ่งที่ฆ่าเซลล์มะเร็งมาให้ แต่การจะหายขาดนั้น ตัวเราต้องเป็นผู้นำในการรักษา ดังนั้นบอกตัวเองเสมอว่าเมื่อเป็นซ้ำได้ก็หายได้ การบอกตัวเองว่า “นี่ไม่ใช่เหตุการณ์ครั้งแรก  เราเคยผ่านมันมาแล้วและเราทำได้ดี เมื่อเราต้องผ่านมันไปอีกครั้งเราก็ย่อมจะทำได้ดีอีกครั้ง” จะทำให้ผู้ป่วยไม่มัวแต่กังวลจนร่างกายทรุดโทรม

สิ่งต่อมาที่ควรพิจารณา คือ เราพลาดอะไรไปในระหว่างการรักษาครั้งแรกหรือไม่ แม้การรักษาในปัจจุบันจะช่วยผู้ป่วยได้อย่างเต็มที่แล้ว  แต่ก็เป็นที่ทราบกันดีว่ามะเร็งหลายชนิดก็กลับมาเป็นซ้ำ ยกตัวอย่างที่พบได้บ่อย ๆ คือมะเร็งเต้านม และ มะเร็งกลุ่มทางเดินอาหาร เพราะอะไร…ย้อนไปเมื่อวันที่เราถูกวินิจฉัยครั้งแรกว่าเราป่วยเป็นมะเร็ง มีสักกี่คนที่จะยอมรับว่าเราใช้ร่างกายหักโหมเกินไป เราไม่ได้ดูแลร่างกาย เราใช้ชีวิตเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็ง จนในที่สุดวันหนึ่งเราก็กลายเป็นผู้ป่วยมะเร็ง ส่วนมากแล้วหลังได้รับคำวินิจฉัยสิ่งที่ผู้ป่วยมองหาอันดับแรกคือวิธีรักษา  ทำอย่างไรจะหาย แต่ไม่ได้หันกลับไปมองว่ามันมาได้อย่างไร การใช้ชีวิตที่ผ่านมาทำให้ร่างกายเราเป็นแบบนี้หรือไม่   และหากในช่วงที่ได้รับการรักษาผู้ป่วยยังทำตัวเหมือนเดิม รวมถึงหลังจากการรักษาสิ้นสุด โดยไม่ได้ตระหนักที่จะเปลี่ยน Lifestyle หรือรูปแบบการดำเนินชีวิต  ใช้ชีวิตเหมือนที่เคยเป็นมาที่เป็นสาเหตุของมะเร็ง ย่อมเป็นธรรมดาที่เซลล์มะเร็งที่ซ่อนตัวอยู่ในร่างกายจะกลับมาก่อโรคได้อีก การรักษาจึงเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ แต่การเข้าใจถึงต้นเหตุย่อมเป็นการป้องกันที่ดีกว่า

สิ่งสามที่ควรพิจารณา จากทฤษฏีที่ว่าการกลับเป็นซ้ำเกิดจากมีจำนวนเซลล์มะเร็งปริมาณไม่มากเล็ดลอดจากการรักษาผู้ป่วยควรต้องทราบก่อนว่ามะเร็งที่เล็ดลอดการรักษาอย่างเคมีบำบัด และ การฉายแสงที่มีประสิทธิภาพในการทำลายเซลล์สูงไปได้  ย่อมเป็นเซลล์มะเร็งที่มีความสามารถและฉลาดในการเอาตัวรอดมากกว่าเซลล์มะเร็งอื่น ๆ  ไม่ว่าจะมีการกลายพันธุ์อยู่ก่อนแล้ว หรือกลายพันธุ์ในระหว่างการรักษาจนทำให้การรักษาไม่สามารถฆ่าเซลล์มะเร็งได้

ดังนั้นเมื่อรู้ว่าหลังการรักษามะเร็งจบไปแล้ว จะไม่สามารถการันตีได้ 100% ว่าจะไม่มีการกลับมาเป็นซ้ำ  เราก็ต้องป้องกันตนเอง เพราะการรักษาแพทย์แผนปัจจุบันไม่ได้มีการดูแลในส่วนนี้ที่จะตามหาว่าหลังจบการรักษาแล้วยังคงมีรอยโรคระดับเซลล์หลงเหลืออยู่ในร่างกายหรือไม่ เม็ดเลือดขาวในร่างกายเราเท่านั้นที่จะคอยลาดตระเวนและทำลายเซลล์ผิดปกติที่หลงเหลืออยู่  ดังนั้นการส่งเสริมให้เม็ดเลือดขาวแข็งแรงด้วยแนวทางต่าง  ๆ เช่น การปรับเปลี่ยน Lifestyle การพักผ่อน และการละลดความเครียด เพื่อส่งเสริมการทำงานของเม็ดเลือดขาวและป้องกันมะเร็งไม่ให้กลับมา

บทความแนะนำ

วิดีโอแนะนำ