โรคมะเร็งไม่ใช่เพียงแค่โรคทางกาย แต่ยังส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของผู้ป่วยที่อย่างรุนแรง จากการศึกษาแสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งถึง 50% มีปัญหาทางจิตเวชซึ่งสมควรต้องได้รับการแก้ไข เมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็ง การตอบสนองทางอารมณ์ของผู้ป่วยมักประสบกับความกลัวต่อความตาย วิตกกังวลเกี่ยวกับการพยากรณ์โรคและความเจ็บปวดที่อาจเกิดขึ้น กังวลถึงผลกระทบต่อคนที่รัก ความเครียดจากการตัดสินใจในการรักษา ความกังวลเรื่องค่ารักษาพยาบาล เกิดความรู้สึกเศร้าและสิ้นหวัง ไปจนถึงอาจรู้สึกโกรธกับสถานการณ์ของตนเองจนตั้งคำถามว่า “ทำไมต้องเป็นฉัน?” ดังนั้น การทำความเข้าใจผลกระทบด้านสุขภาพจิตจากโรคมะเร็งต่อผู้ป่วย จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการให้การดูแลผู้ป่วยมะเร็งให้ครอบคลุมทั้งร่างกายและจิตใจ ในทางจิตวิทยาแล้วผู้ป่วยมะเร็งจะมีการตอบสนองทางอารมณ์แบ่งออกเป็นระยะได้ดังนี้
รู้สึกช็อก : ปฏิกิริยาเริ่มต้นต่อการได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็ง มักประกอบด้วยความไม่เชื่อความรู้สึกชา ผู้ป่วยอาจรู้สึกสับสนและยากที่จะประมวลผลข้อมูล
การปฏิเสธ : ผู้ป่วยบางรายอาจปฏิเสธที่จะยอมรับการวินิจฉัย ซึ่งอาจเป็นกลไกการป้องกันตนเองจากความเจ็บปวดทางอารมณ์
ความโกรธ : เมื่อผู้ป่วยเริ่มยอมรับความจริงได้ อารมณ์โกรธอาจปรากฏขึ้น ระยะนี้มีลักษณะของความหงุดหงิดและความไม่พอใจได้
การต่อรอง : ผู้ป่วยอาจพยายามเจรจากับตนเองหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ต่าง ๆ โดยสัญญาว่าจะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมหรือวิถีชีวิตเพื่อหวังที่จะได้รับเปลี่ยนแปลงชะตากรรมของตน
ภาวะซึมเศร้า : ระยะนี้ผู้ป่วยจะมีความโศกเศร้า สะท้อนให้เห็นถึงความรุนแรงของสถานการณ์และการสูญเสียที่ประสบหรือการรักษาอาจไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง
การยอมรับ : ในที่สุด ผู้ป่วยหลายรายจะถึงระยะการยอมรับ ซึ่งพวกเขายอมรับการวินิจฉัยและหาวิธีการรับมืออย่างสร้างสรรค์
แนวทางในการดูแลสุขภาพจิตของผู้ป่วยโรคมะเร็ง
การได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งมักมาพร้อมกับความเครียดทางจิตใจอย่างมาก การให้ความสำคัญกับความต้องการด้านสุขภาพจิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง เพื่อความเป็นอยู่โดยรวมของผู้ป่วยที่ดีขึ้น และเมื่อสุขภาพจิตดีขึ้นผลการรักษาที่ได้ก็ย่อมดีขึ้นไปด้วย บทความนี้จึงได้สำรวจแนวทางในการจัดการสุขภาพจิตของผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ครอบคลุม โดยเน้นการบำบัดที่มีหลักฐานการรองรับทางวิทยาศาสตร์
- จิตบำบัด Cognitive Behavioral Therapy (CBT) เป็นหนึ่งในวิธีที่มีความเหมาะสมและมีประสิทธิภาพอย่างมากในการจัดการกับอาการซึมเศร้า ความวิตกกังวล และปัญหาทางจิตใจด้านอื่น ๆ ของผู้ป่วยที่ต้องเผชิญกับโรคมะเร็ง CBT ช่วยให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งสามารถโฟกัสในปัญหาและเป้าหมายการรักษาได้อย่างชัดเจน, สอนทักษะที่เกี่ยวข้องกับการจัดการความเครียดและความกังวล ซึ่งเป็นปัจจัยหลักสำคัญในการรับมือกับการรักษาโรคมะเร็ง, ช่วยให้ผู้ป่วยมะเร็งเรียนรู้ที่จะเปลี่ยนแปลงความคิดไปทางด้านบวก ซึ่งส่งผลต่ออารมณ์และพฤติกรรมของพวกเขา การเปลี่ยนแปลงทางความคิดเชื่อมโยงกับการลดความกังวลและความเครียดได้
- ยาและเวชภัณฑ์ ยาต้านซึมเศร้าและยาแก้ความวิตกกังวล ยาอาจเป็นส่วนประกอบสำคัญของการรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งที่มีอาการซึมเศร้าหรือความวิตกกังวลอย่างรุนแรง ยาที่มีประสิทธิภาพเรามักใช้ยากลุ่ม selective serotonin reuptake inhibitors (SSRIs) และ benzodiazepines เป็นต้น
- Transcranial Magnetic Stimulation (TMS) TMS เป็นการรักษาทางการแพทย์ที่ใช้แม่เหล็กไฟฟ้า ส่งสัญญาณมากระตุ้นส่วนในส่วนหนึ่งของสมอง เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาด้านจิตใจในผู้ป่วยมะเร็งและอาจมีประสิทธิภาพในการบรรเทาอาการซึมเศร้าและความวิตกกังวลในผู้ป่วยที่เผชิญกับโรคมะเร็งได้ มีศึกษาบางรายงานที่แสดงให้เห็นว่า TMS สามารถช่วยลดอาการซึมเศร้าในผู้ป่วยมะเร็งที่เผชิญกับภาวะซึมเศร้า การกระตุ้นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทสัมผัสและอารมณ์อาจช่วยเพิ่มระดับสารเคมีบางชนิดที่เกี่ยวข้องกับอารมณ์ เช่น กระตุ้นการหลั่ง serotonin ซึ่งอาจช่วยลดอาการซึมเศร้าได้
- การบำบัดแบบบูรณาการ (Integrative medicine) การเจริญสติและการทำสมาธิ : การฝึกสมาธิและการใช้เทคนิค Mindfulness มีประโยชน์ต่อผู้ป่วยมะเร็งในการลดความเครียด ความวิตกกังวล และความซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคมะเร็ง นอกจากนี้การฝึกสมาธิยังช่วยเพิ่มความมั่นใจ การรับรู้ตัวเองและการปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ ๆ ได้ดีขึ้น การใช้เทคนิคการหายใจ : เทคนิคการหายใจช่วยลดระดับความเครียดและเพิ่มความสงบใจในผู้ป่วยมะเร็ง การฝึกการหายใจลึกและการหายใจอย่างมีจุดประสงค์สามารถช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกผ่อนคลายและมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้น โยคะและการออกกำลังกาย : การออกกำลังกายเป็นประจำ รวมถึงการเล่นโยคะ มีความสัมพันธ์กับการลดอาการวิตกกังวลและความซึมเศร้า ปรับปรุงอารมณ์ และปรับปรุงคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคมะเร็ง ความเชื่อทางศาสนาหรือการฝึกปฏิบัติธรรม: ความเชื่อทางศาสนาเป็นแหล่งแรงจูงใจและความหวังที่สำคัญสำหรับผู้ป่วยมะเร็ง การเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาหรือการปฏิบัติธรรมอาจช่วยให้พวกเขามีความสงบใจลงและความมั่นคงในจิตใจ การสนับสนุนทางสังคม : ครอบครัวและเพื่อนคือแรงสนับสนุนทางสังคมที่เข้มแข็งที่สุด ครอบครัวและเพื่อนสามารถให้ความสบายใจทางอารมณ์ ให้ความช่วยเหลือ ลดความรู้สึกเหงาและความวิตกกังวลของผู้ป่วยลงไปได้มาก นอกจากนี้การเข้าร่วมกลุ่มสนับสนุนเฉพาะกับผู้ป่วยมะเร็งคนอื่นๆ อาจช่วยให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าไม่โดดเดี่ยว และสามารถแลกเปลี่ยนประสบการณ์และการเรียนรู้กับผู้อื่นที่มีประสบการณ์ที่คล้ายคลึงกันได้
- American Cancer Society. (2022). Emotional and Social Effects of Cancer. Retrieved from https://www.cancer.org/treatment/treatments-and-side-effects/emotional-side-effects.html
- Mitchell AJ, Chan M, Bhatti H, Halton M, Grassi L, Johansen C, Meader N. Prevalence of depression, anxiety, and adjustment disorder in oncological, haematological, and palliative-care settings: a meta-analysis of 94 interview-based studies. Lancet Oncol. 2011;12(2):160-174.
- Linden W, Vodermaier A, Mackenzie R, Greig D. Anxiety and depression after cancer diagnosis: prevalence rates by cancer type, gender, and age. J Affect Disord. 2012;141(2-3):343-351.
- Osborn RL, Demoncada AC, Feuerstein M. Psychosocial interventions for depression, anxiety, and quality of life in cancer survivors: meta-analyses. Int J Psychiatry Med. 2006;36(1):13-34.