อ่อนเพลีย
คุณเคยทราบหรือไม่ว่า มีคนจำนวนมากที่ต้องทุกข์เพราะอาการอ่อนเพลีย โดยไม่ทราบสาเหตุ ตรวจมาเยอะแต่ตรวจไม่พบสิ่งผิดปกติ ไม่มีทั้งโรคเบาหวาน ความดันโลหิต โรคหัวใจ โรคตับ โรคไตแม้จะพักผ่อนมาก แต่อาการอ่อนเพลียก็ไม่หาย
เซลลูล่า เมตาบอลิซึม (Cellular metabolism) การหายใจระดับเซลล์เริ่มต้นจากอาหารซึ่งประกอบด้วยอาหารหลัก (Macronutrients) และอาหารรอง (Micronutrients)
สำหรับอาหารหลัก (Macronutrients) คือ สารอาหารหลักที่จำเป็นต่อการทำงานของร่างกาย ประกอบด้วยโปรตีน คาร์โบไฮเดรตและไขมัน เรียกว่าเป็นสารตั้งต้นที่เซลล์จะดึงไปใช้ เมื่อเข้าสู่กระบวนการใช้จะเกิดการเผาผลาญและเปลี่ยนสารในการสร้างพลังงานออกมาเรียกว่า ATP และกระบวนการที่เกิดขึ้นเหล่านี้จะต้องใช้อาหารรอง(Mictronutrients) ซึ่งคือ วิตามิน เกลือแร่ น้ำ และอื่นๆ เพื่อเป็นเสมือนกุญแจของฟันเฟืองในการทำงานเพื่อผลิตสารตั้งต้นเป็นพลังงาน
ปัจจัยที่ทำให้ร่างกายอ่อนเพลียได้ อาทิ
- การขาดสารอาหาร
กรณีรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ซ้ำๆ เช่น รับประทานอาหารหลัก เป็นข้าวมันไก่ที่มีคาร์โบไฮเดรตและโปรตีนมาก แต่ไม่มีคุณค่าอาหารอื่นและอาหารรอง ย่อมเกิดการขาดสารอาหารทำให้เกิดอาการอ่อนเพลีย
- สารพิษโลหะหนัก
สามารถถูกดูดซึมเข้าไปแทนที่แร่ธาตุที่มีประโยชน์ เนื่องจากสารพิษโลหะหนักมีประจุไฟฟ้าเสมือนแร่ธาตุอื่นๆ ดังนั้นรูกุญแจที่จะนำแร่ธาตุเข้าไปสู่ร่างกายก็สามารถดูดซึมสารพิษโลหะหนักเข้าไป ซึ่งจะทำให้กระบวนการผลิตพลังงานมีผลกระทบ ไม่สามารถผลิตพลังงานได้
- เตาปฏิกรณ์ในการสร้างพลังงานของเซลล์หรือไมโทคอนเดรีย (Mitochondria)
เป็นจุดที่สารพิษโลหะหนักมักเข้าไปสะสมทำให้เกิดความเสียหาย จึงไม่สามารถสร้างพลังงานได้ หรือบางกรณีไมโทคอนเดรียอาจไม่ได้เสียหายจากสารพิษโลหะหนักแต่กระบวนการทำงานขาดออกซิเจนก็ทำให้เซลล์นั้นขาดพลังงานและเกิดของเสียคั่งค้างในเซลล์
ถ้าถามว่าเพราะเหตุใดจึงขาดออกซิเจน เพราะหายใจได้ไม่ดี หายใจไม่ลึก การไหลเวียนเลือดไม่ดีเพราะมีหินปูนเกาะเส้นเลือดหรือรับประทานอาหารที่มีแป้ง โปรตีนมาก เกิดภาวะเลือดหนืด ทำให้เม็ดเลือดเกาะเป็นก้อน เม็ดเลือดจึงจับออกซิเจนได้ไม่ดี ทุกๆปัจจัยเหล่านี้ ล้วนส่งผลให้ระดับออกซิเจนน้อย การทำงานระบบเผาผลาญระดับเซลล์จึงไม่ดี
ปัจจัยทำลายไมโทคอนเดรีย (Mitochondria) ได้แก่
ไวรัสบางประเภท เช่น ไวรัสเอ็บสเตนบาร์ (EBV) สามารถทำให้ DNA ของไมโทคอนเดียเพี้ยนได้ รวมถึงเชื้อราและแบคทีเรียบางชนิด เป็นต้น
ฮอร์โมน ทั้งนี้ สมดุลเผาผลาญต่างๆมักจะถูกควบคุมโดยสมดุลของฮอร์โมนในอีกขั้น อาทิ ฮอร์โมนไทรอยด์ ฮอร์โมนต่อมหมวกไต ฮอร์โมนเพศ ฮอร์โมนเจริญเติบโต ที่จะสร้างสมดุลในการสร้างพลังงานให้ดี เพราะฉะนั้นถ้าฮอร์โมนไทรอยด์ต่ำ ย่อมเกิดอาการอ่อนเพลีย ฮอร์โมนต่อมหมวกไตต่ำย่อมเกิดอาการเพลีย หากฮอร์โมนเพศตกจะเกิดอาการอ่อนเพลีย หรือถ้าฮอร์โมนเจริญเติบโตต่ำ ก็จะทำให้เกิดอาการอ่อนเพลียเช่นเดียวกัน ดังนั้นเมื่อฮอร์โมนเหล่านี้บกพร่องย่อมทำให้ไม่สามารถสร้างพลังงานได้นั่นเอง
อย่างไรก็ตาม หากมีผลกระทบใดที่เกิดขึ้นกับเซลลูล่าเมตาบอลิซึม ฮอร์โมน ภูมิคุ้มกัน การกลายพันธ์ุ สารพิษ ย่อมเป็นที่มาของการอ่อนเพลียเรื้อรังได้
การรักษาแบบบูรณาการ
ประโยชน์สูงสุดที่จะได้รับจากการรักษาภาวะอ่อนเพลียเรื้อรังโดยการรักษาแบบบูรณาการ คือ เป็นการรักษาองค์รวม ไม่ใช่การรักษาเพียงด้านใดด้านหนึ่งเท่านั้น ได้แก่ การเสริมวิตามิน แร่ธาตุ ให้สารอาหารบำรุงการเผาผลาญของเซลล์ เช่น การให้วิตามินรวมเข้มข้นทางหลอดเลือด การเติมกรดอะมิโน การเพิ่มออกซิเจน การปรับสมดุลฮอร์โมน การล้างพิษ เป็นต้น