สารอาหารมีบทบาทสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกัน โดยการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพของระบบภูมิคุ้มกันจำเป็นต้องได้รับสารอาหารที่เหมาะสม และเพียงพอ
ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์ทำหน้าที่กำจัดเชื้อก่อโรคต่าง ๆ และเซลล์แปลกปลอม เช่นเซลล์มะเร็ง การทำงานของระบบภูมิคุ้มกันนี้ถูกควบคุมผ่านการหลั่งสาร cytokines จากเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกันเอง และเซลล์อื่น ๆ ของร่างกาย โดยการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกันนี้อาจก่อให้เกิดการอักเสบ หรือต่อต้านการอักเสบขึ้นอยู่กับชนิดของสาร cytokines ที่เซลล์นั้น ๆ หลั่งออกมา
การได้รับสารอาหารที่ไม่เพียงพอ หรือไม่เหมาะสม รวมถึงการได้รับสารพิษต่าง ๆ เป็นประจำ ส่งผลให้เกิดการตอบสนองที่ผิดเพี้ยนไปของระบบภูมิคุ้มกัน ก่อให้เกิดการติดเชื้อ โรคมะเร็ง และโรคภูมิแพ้ ต่าง ๆ ได้
สารอาหารที่มีบทบาทสำคัญต่อระบบภูมิคุ้มกันมี ดังนี้
กลุ่มสารอาหารหลัก
- กลุ่มโปรตีน มีส่วนช่วยในการสร้าง antibodies และ cytokines
- Arginine เป็นกรดอะมิโนที่ช่วยเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด macrophage ในการกำจัดเซลล์แปลกปลอม เช่น แบคทีเรียก่อโรค และพยาธิ นอกจากนั้นยังมีคุณสมบัติต้านการอักเสบ ผ่านการยับยั้ง NF-kB และเนื่องจากความสามารถในการเพิ่มการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันนี้เอง ทำให้ arginine มีบทบาทในการต่อต้านมะเร็งด้วย
- Tryptophan เป็นกรดอะมิโนที่ร่างกายสร้างขึ้นเองไม่ได้ จำเป็นต้องได้รับจากอาหาร มีความสำคัญในการสร้างโปรตีนที่มีผลต่อการแบ่งตัว และการเจริญของเซลล์ tryptophan ที่ถูกนำไปใช้ในร่างกายมีผลทั้งก่อให้เกิดการอักเสบ และต้านการอักเสบ รวมถึงสารที่ได้จากการเผาผลาญ tryptophan บางชนิดมีผลยับยั้งการเจริญเติบโต และการกระจายของมะเร็งอีกด้วย
- กลุ่มไขมัน
- คอเลสเตอรอล เป็นองค์ประกอบสำคัญของเยื่อหุ้มเซลล์ โรคต่าง ๆ เช่น มะเร็ง การติดเชื้อ และภูมิแพ้ ก่อให้เกิดการอักเสบ เป็นผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความสมดุลของการสร้างคอเลสเตอรอลได้ เมื่อการควบคุมคอเลสเตอรอลเสียสมดุลไป เกิดคอเลสเตอรอลที่สูงขึ้นในกระแสเลือด ก็จะนำไปสูโรคเมตาบอลิกต่าง ๆ เช่น ไขมันอุดตันในเส้นเลือด และไขมันในเลือดสูง ระบบภูมิคุ้มกันจะเข้ามามีบทบาทอีกครั้งในการควบคุมโรคเหล่านี้ผ่านการกระตุ้นโดย cytokines ที่เกิดจากการอักเสบนี้
- กรดไขมันไม่อิ่มตัวที่มีพันธะคู่หลายคู่ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่คือ โอเมก้า3 และ โอเมก้า6 กรดไขมันอิ่มตัวที่มีพันธะคู่นี้จะทำหน้าที่เป็นองค์ประกอบของเยื่อหุ้มเซลล์ร่วมกันกับคอเลสเตอรอล กรดไขมันเหล่านี้จะทำหน้าที่ปรับเปลี่ยนการตอบสนองของระบบภูมิคุ้มกัน โดยโอเมก้า3 จะช่วยลดการอักเสบตรงกันข้ามกับ โอเมก้า6 ซึ่งจะก่อให้เกิดการอักเสบ นอกจากนั้น ยังพบว่าสัดส่วนของโอเมก้า6 กับโอเมก้า3 ที่ต่ำจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งเต้านมในผู้หญิง และช่วยลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอีกด้วย
กลุ่มสารอาหารรอง
- กลุ่มวิตามิน
- วิตามิน A มีบทบาทในการต้านการอักเสบ และในบางกรณีก็กระตุ้นให้เกิดการอักเสบได้ด้วยโดยเฉพาะในการเกิดการอักเสบในลำไส้ มีการศึกษาพบฤทธิ์ต้านมะเร็งในมะเร็งตับอ่อน และมะเร็งไตในระยะแพร่กระจาย รวมถึงใช้ในการรักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิด APL (acute promyelocytic leukemia) โดยสารที่มีฤทธิ์ต้านมะเร็งส่วนใหญ่เป็นสารในกลุ่มวิตามิน A ชนิด all-trans-retinoic acid
- วิตามิน B1, 2, 3 และ 12 โดยวิตามิน B เหล่านี้มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ รวมถึง ช่วยในกระบวนการสร้างพลังงานให้แก่เซลล์ต่าง ๆ ของร่างกาย รวมถึงเซลล์ของระบบภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ ยังมีรายงานถึงฤทธิ์ต้านมะเร็งของวิตามิน B3 และ B12 ข้อควรระวังคือมีการรายงานว่าการได้รับวิตามิน B12 ในปริมาณสูงก่อให้เกิดผลเสียต่อโรคมะเร็งทุกชนิด
- วิตามิน C มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระและช่วยปกป้องเซลล์จากการอักเสบ นอกจากนั้น ยังช่วยเพิ่มจำนวนของเซลล์เม็ดเลือดขาวเพชฌฆาต ต้านมะเร็งอีกด้วย
- วิตามิน D มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และต้านมะเร็ง มักถูกนำมาใช้ทั้งในการช่วยป้องกันมะเร็ง และเสริมการรักษามะเร็ง
- กลุ่มแร่ธาตุ
- สังกะสี (Zinc) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ แต่ถ้ามีปริมาณเยอะมากเกินไปก็กระตุ้นให้เกิดการอักเสบได้ ช่วยเพิ่มจำนวนของเม็ดเลือดขาวชนิด CD8+ T cell
- ซีลีเนียม (selenium) มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ ช่วยเพิ่มการตอบสนองของเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด T cell ช่วยเพิ่มการสร้าง antibodies หลังได้รับวัคซีน นอกจากนั้นเมื่อให้เสริมในผู้ป่วยมะเร็งพบว่าช่วยเพิ่มประมาณของ IgA และ IgG รวมถึงจำนวนของ เม็ดเลือดขาวชนิดนิวโทรฟิล
กลุ่มที่ไม่ใช่สารอาหาร
ได้แก่สารพฤกษเคมีต่าง ๆ ซึ่งส่วนใหญ่จะมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ เสริมภูมิคุ้มกัน รวมถึงต้านมะเร็ง
ตัวอย่างสารพฤกษเคมีที่มีผลต่อภูมิคุ้มกัน ได้แก่
- Piperine เป็นสารพฤกษเคมีที่ได้จาก พริกไทยดำ
- Quercetin เป็นสารพฤกษเคมีที่ได้จากพืชที่มีสีออกขาว เช่น หัวหอม
- Genistein เป็นสารพฤกษเคมีที่ได้จากถั่วเหลือง
- EGCG เป็นสารพฤกษเคมีที่ได้จากชาเขียว
- Polysaccharide เป็นสารพฤกษเคมีที่ได้จากเห็ด
- Munteanu C, Schwartz B. The relationship between nutrition and the immune system. Front Nutr. 2022 Dec 8;9:1082500. doi: 10.3389/fnut.2022.1082500. PMID: 36570149; PMCID: PMC9772031.
- Behl T, Kumar K, Brisc C, Rus M, Nistor-Cseppento DC, Bustea C, Aron RAC, Pantis C, Zengin G, Sehgal A, Kaur R, Kumar A, Arora S, Setia D, Chandel D, Bungau S. Exploring the multifocal role of phytochemicals as immunomodulators. Biomed Pharmacother. 2021 Jan;133:110959. doi: 10.1016/j.biopha.2020.110959. Epub 2020 Nov 13. PMID: 33197758.