ในปัจจุบันมีบทความทางการแพทย์มากมายที่มองประเด็นเรื่องการอักเสบของร่างกายกับโรคมะเร็ง ไม่ว่าจะเป็นการอักเสบเรื้อรังเป็นสาเหตุให้เกิดเนื้อเยื่อมะเร็งในบางอวัยวะ หรือ ภาวะอักเสบในร่างกายทำให้การรักษาเห็นผลน้อยลง และการอักเสบส่งผลต่อภาวะภูมิคุ้มกันที่ลดลงของร่างกาย

ตัวอย่างภาวะอักเสบเรื้อรังในเนื้อเยื่อที่ส่งผลให้เนื้อเยื่อนั้นกลายเป็นก้อนมะเร็ง ได้แก่ มะเร็งปากมดลูก และมะเร็งลำไส้ใหญ่

ในการรักษามะเร็งนอกจากจะมุ่งเน้นไปที่การผ่าตัด การฉายแสง และการให้เคมีบำบัดเพื่อทำลายเซลล์มะเร็งแล้ว คนไข้ควรทราบว่ายังมีอีกหลายเรื่องในส่วนของการดูแลรักษาที่สามารถช่วยให้ผลการรักษาที่รับจากโรงพยาบาลดีมากขึ้นหรือตอบสนองมากขึ้น หนึ่งในนั้นคือการทำให้ร่างกายอักเสบลดลง อาศัยข้อมูลทางการแพทย์ที่มีการพูดถึงเรื่องคุณลักษณะเด่นของเซลล์มะเร็ง (Hallmarks of Cancer) จะพบว่ามะเร็งจะสร้างสารอักเสบรอบตัวเพื่อให้เกิดการแบ่งตัว พร้อมกับมีการสร้างเส้นเลือดมาเลี้ยงก้อนมะเร็งเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการกระจายตัวของเซลล์มะเร็งออกนอกพื้นที่

นอกจากนี้ยังพบว่าภาวะอักเสบในร่างกายไม่ว่าจะเกิดจากปัจจัยภายนอกเช่น สารพิษ การติดเชื้อไวรัส ภาวะอ้วน หรือ ภาวะภูมิผิดเพี้ยน และปัจจัยภายในที่เกิดจากก้อนมะเร็งสร้างสารอักเสบ ล้วนมีผลต่อการกดการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้การทำงานของภูมิคุ้มกันลดลง เม็ดเลือดขาวที่มีหน้าที่ในการทำลายเซลล์มะเร็งทำงานได้ลดลง

สำหรับการแพทย์บูรณาการได้เน้นการรักษาทางธรรมชาติที่ช่วยลดภาวะอักเสบในร่างกาย อันประกอบไปด้วย

1. การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ไม่เจือปนด้วยสารพิษ และเป็นอาหารที่ไม่ก่อการอักเสบเพิ่มเติมในร่างกาย หรือเรียกง่ายๆว่าเป็นชนิดอาหารที่ลดการอักเสบ

2. การล้างสารพิษ (Detoxification) เน้นการล้างสารพิษจากทุกระบบ ไม่ว่าจะเป็นทางตับ ไต และผิวหนัง และการล้างสารพิษระดับเซลล์ ด้วยการส่งเสริมระบบ anti-oxidant ทางธรรมชาติที่เซลล์มีอยู่แล้ว

3. การออกกำลังกายเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของระบบเลือดและน้ำเหลืองเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนของเสีย และของดีไปตามจุดต่างๆของร่างกาย

4. การใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่มีฤทธิ์ลดการอักเสบให้กับร่างกายทั้งทางการรับประทาน หรือการให้ทางเส้นเลือดดำ เช่น สารสกัดจากขมิ้น (Curcumin), ชาเขียว (EGCG), เควอซิติน (Quercetin)

5. การใช้หลักการของเอนไซม์ช่วยย่อยโปรตีน เพื่อมาลดการอักเสบที่เกิดจากมะเร็ง (Proteolytic enzyme therapy)

Share