Akesis Integrative oncology method

โดย นพ.ศิต เธียรฐิติ

ทำไมถึงต้องใช้การรักษาแบบบูรณาการสำหรับโรคมะเร็ง ?

  • ความน่ากลัวที่สุดของโรคมะเร็ง คือ ในระยะเริ่มต้น มักจะไม่มีอาการ แต่ถ้ารอจนเริ่มมีอาการ การดำเนินโรคมักเข้าสู่ระยะลุกลาม ซึ่งทำให้โอกาสในการหาย หรือตอบสนองต่อการรักษาลดลง
  • การรักษามะเร็งในปัจจุบัน ยังคงมุ่งเป้าและให้น้ำหนักไปที่การกำจัดทำลายก้อนเนื้อหรือเซลล์มะเร็ง จนละเลยการดูแลระบบภูมิต้านทาน และไม่ได้แก้ไขปัจจัยต้นเหตุของปัญหาโดยเฉพาะวิถีชีวิตในมุมต่าง ๆ ของคนไข้
  • การแพทย์บูรณาการ คือ การผสานองค์ความรู้ที่หลากหลาย เข้าไปแก้ไขในทุกข้อปัจจัยที่เกี่ยวข้อง สร้างสมดุลของสุขภาพให้กับผู้ป่วย เพื่อเพิ่มโอกาสในการรักษาเพิ่มอัตราการรอดชีวิตให้กับคนไข้
  • การรักษามะเร็งที่ดีที่สุด คือการป้องกันไม่ให้เกิด

เสาหลัก 5 ประการของการดูแลรักษาคนไข้มะเร็งแบบการแพทย์บูรณาการ

เสาหลักที่ 1   : การตรวจรักษาด้วยวิธีการแพทย์แผนปัจจุบัน : Conventional Medicine

        แนวทางการตรวจวินิจฉัย รวมถึงการรักษามะเร็งตามแบบแผนของการแพทย์ปัจจุบัน จะมีการกำหนดแนวทางในการดูแลเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่การตรวจคัดกรอง การตรวจทางห้องปฏิบัติการต่าง ๆ รวมถึง การตัดชิ้นเนื้อ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยที่แน่ชัด รวมไปถึงการประเมินระยะของโรคมะเร็ง เพื่อพิจารณาการบริหารยา หรือการทำหัตถการต่าง ๆ ในการรักษาได้แก่ การผ่าตัด การใช้เคมีบำบัด การบำบัดทางรังสีวิทยา การใช้ยามุ่งเป้า หรือยาระบบภูมิต้านทานบำบัด เป็นต้น ซึ่งในบางครั้งอาจไม่สามารถกำจัดต้นตอของมะเร็งได้ทั้งหมด เช่น    ยากลุ่มเคมีบำบัดจะมีข้อดี คือ สามารถทำลายเซลล์มะเร็งที่อยู่ในระยะแบ่งตัวได้ดี แต่อาจส่งผลน้อยมากกับ เซลล์มะเร็งต้นกำเนิด ทำให้เกิดการกลับมาเป็นซ้ำของโรค รวมไปถึงการเกิดภาวะดื้อยาของเซลล์มะเร็งอีกด้วย

        ผลลัพธ์ของการรักษาจึงขึ้นกับชนิดของมะเร็ง และระยะของการดำเนินโรค มะเร็งในระยะเริ่มต้นที่เมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาและสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งออกได้ทั้งหมด จึงมักจะมีผลลัพธ์ที่ดีหรือมีอัตราการรอดชีวิตที่มากกว่า มะเร็งในระยะลุกลาม

        Akesis จึงมีแนวทางของการใช้การแพทย์บูรณาการมาผสมผสาน เพื่อเพิ่มโอกาสให้คนไข้ของเรา เป็นหนึ่งในผู้ที่ตอบสนองต่อการรักษา และกลายมาเป็นผู้ที่รอดชีวิตจากโรคมะเร็ง

เสาหลักที่ 2   : การยับยั้งการเติบโตของเซลล์มะเร็ง : Multiple Targeted Therapy
กลยุทธ์ในการรักษา คือ การยับยั้งทุกกลไกการเติบโตของมะเร็งโดยสร้างผลเสียกับคนไข้ให้น้อยที่สุด

        วงการแพทย์ปัจจุบันได้พัฒนายาใหม่ ๆ โดยการนำยาเดิมมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ใหม่ (Repurposing Medicine) รวมถึงการใช้สารพฤกษเคมีจากพืชสมุนไพร เพื่อนำมาใช้เป็นยามุ่งเป้ายับยั้งในทุกกลไกการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งได้เป็นอย่างดี      

        อีกหนึ่งแนวทางการรักษา คือ Precision Medicine หรือ การแพทย์แม่นยำ เป็นเทคโนโลยีล่าสุดที่ทางการแพทย์สามารถนำชิ้นเนื้อมะเร็งและเซลล์ต้นกำเนิดของมะเร็งที่ตรวจพบในเลือดคนไข้ไปตรวจสอบลักษณะทางพันธุกรรมที่มะเร็งใช้ในการเติบโต เพื่อวางแผนในการเลือกใช้ยาให้แม่นยำและตรงกับเซลล์มะเร็งที่กำลับเติบโตอยู่ในร่างกายคนไข้อีกด้วย

เสาหลักที่ 3   : การรักษามะเร็งโดยอาศัยรูปแบบการใช้พลังงานเฉพาะตัวของเซลล์มะเร็ง  เพื่อมุ่งหวังทำให้มะเร็งอ่อนแอลง จนเพิ่มโอกาสให้คนไข้สามารถเอาชนะเนื้อเยื่อมะเร็งนี้ได้มากขึ้น : Metabolic Cancer Therapy

        การรักษาแบบมุ่งเป้ายับยั้งการสร้างพลังงานของเซลล์มะเร็ง โดยอาศัย ยา หรือสารพฤกษเคมีที่มีการศึกษาว่า สามารถยับยั้งกลไกการสร้างพลังงานของเซลล์มะเร็งนี้ได้ เช่น ยาเบาหวาน Metformin หรือ สมุนไพรสกัดจาก Berberine มีการค้นพบว่าอาจเป็นยาทางเลือกที่จะมุ่งเป้าไปยับยั้งกลไกการสลายน้ำตาลของเซลล์มะเร็งได้

        การใช้ อินซูลินบำบัด Insulin potentiated therapy – IPT  หรือ การใช้สารพฤกษเคมีต่างๆ เพื่อเหนี่ยวนำยามุ่งเป้าเข้าสู่เซลล์มะเร็งได้แม่นยำขึ้น และลดผลข้างเคียงของยากับคนไข้มะเร็งได้ 

        การใช้ยาเคมีบำบัดขนาดต่ำ  หรือที่เรียกว่า Metronomic Chemotherapy  ให้ผลลัพธ์ที่ดีของการรักษามากขึ้นเพราะผลข้างเคียงจากยาที่คนไข้ได้รับน้อยลง รวมไปถึง ช่วยส่งผลยับยั้งการสร้างเส้นเลือดของมะเร็ง และเม็ดเลือดขาวสามารถสร้างภูมิต้านทานต่อต้านมะเร็งด้วยตนเองได้ดีขึ้นด้วย

เสาหลักที่ 4   : ภูมิต้านทานบำบัด (Integrative immunotherapy)

             การฟื้นฟูความเสื่อมความบพร่องของระบบภูมิต้านทานต้องอาศัยแนวทางที่หลากหลาย เช่น การใช้โภชนาการบำบัด สมุนไพรบำบัด เปปไทด์บำบัด ไทมัสสกัด หรือกลุ่มเซลล์บำบัด เพื่อฟื้นสภาพของเม็ดเลือดขาวคนไข้ให้แข็งแรงขึ้นมาไปพร้อม ๆ กับการฝึกฝนให้ระบบภูมิต้านทานคนไข้สามารถเรียนรู้อัตลักษณ์ต่าง ๆ ของเซลล์มะเร็งที่มีอยู่ในร่างกายคนไข้ เพื่อสร้างภูมิต้านทานถาวรในการเอาชนะมะเร็งได้ด้วยตัวคนไข้เอง เช่น การทำวัคซีนมะเร็งเฉพาะบุคคล Personalized neoantigen cancer vaccine เป็นต้น

เสาหลักที่ 5   : การใช้เวชศาสตร์วิถีชีวิตในการบำบัดรักษา และป้องกันโรคมะเร็ง  ( Life style medicine cancer management and prevention )

5.1 Detoxification : การรักษาโดยวิธีการขับสารพิษ เป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดปัจจัยก่ออนุมูลอิสระ ลดการบาดเจ็บ และการอักเสบระดับเซลล์ต่าง ๆ อันเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งของการเกิดโรคมะเร็ง มีหลากหลายวิธีด้วยกัน

  • กระตุ้นการทำงานของตับในการขับสารพิษ โดยใช้กรดอะมิโน วิตามิน แร่ธาตุ ที่จะช่วยให้ตับขับสารพิษออกจากร่างกายได้ดีขึ้น รวมถึง การใช้ออกซิเจน หรือ โอโซนบำบัด
  • การทำคีเลชั่นบำบัด เพื่อกำจัดสารพิษโลหะหนักที่จะสะสมอยู่ในเนื้อเยื่อ โดยการใช้กรดอะมิโนที่มีคุณสมบัติดูดซับสารโลหะหนักเหล่านี้ออกนอกร่างกาย และขับออกมาทางปัสสาวะ
  • การกระตุ้นการไหลเวียนของระบบหลอดเลือดและน้ำเหลือง อาศัยการนวดน้ำมันอโรมา หรือ การใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากระตุ้นระบบน้ำเหลือง ที่เรียกว่า Electro lymphatic drainage therapy

 

เมื่อการคั่งค้างของสารพิษที่สะสมมาเหล่านี้ลดลง คนไข้จะมีภูมิต้านทานที่แข็งแรงขึ้น และสามารถฟื้นฟูร่างกายต่าง ๆ ได้ดีขึ้นตามมา

อาหาร    การได้รับสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกาย จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาได้เป็นอย่างดี  โดย ควรเลือกทานอาหารที่มีประโยชน์ ผักผลไม้ที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ  เลือกอาหารปลอดสารพิษ และควรหลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป  และน้ำตาล 

ออกกำลังกาย  การออกกำลังกายทุกวันจะช่วยเพิ่มการไหลเวียนของเลือด  รวมทั้งการหายใจเข้าลึก ๆจะช่วยเพิ่มระดับออกซิเจนในเซลล์ ซึ่งมีส่วนช่วยทำลายเซลล์มะเร็งได้

การรักษาสภาพจิตใจ  การดูแลด้านอารมณ์และจิตใจ เป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญที่ควรให้ความสำคัญไม่แพ้กับการฟื้นฟูด้านอื่น ๆ  เพราะการดูแลอารมณ์และจิตใจให้แจ่มใสอยู่เสมอ จะเป็นหนทางในการสร้างพลังใจในการต่อสู้โรคให้กับผู้ป่วยมะเร็งได้เป็นอย่างดี