โรคภูมิแพ้ ถ้าใครไม่เคยเป็นจะไม่มีทางรู้เลยว่าเป็นโรคที่ไม่ได้หนักหนาสาหัสถึงกับชีวิตเหมือนโรคเรื้อรังอื่นๆ แต่มันทรมานไม่สบายตัวเอาซะเลย เพราะบางครั้งมันก็ทำให้เราคันมีผื่นแดงขึ้นตามตัว บางครั้งก็มีน้ำมูกไหล คัดจมูก ไอจามได้ทุกเช้าไม่เคยเว้นวันหยุดราชการ บางครั้งก็ตาแดง แสบเคืองตาอยู่เป็นอาทิตย์ ใช้ยาแก้แพ้ไม่ว่าจะกิน ทา หรือหยอดตา ก็ได้แค่ลดอาการระคายเคืองไปบ้าง แต่ไม่หายขาดสักที นี่คือสิ่งที่ผมเองได้ฟังประจำจากคนไข้โรคภูมิแพ้เรื้อรัง
ซึ่งสำหรับสาเหตุของการก่อภูมิแพ้นั้น เชื่อว่าเกิดจากเม็ดเลือดขาว ในเลือดของร่างกายเราทำปฏิกิริยากับสารก่อภูมิแพ้ต่างๆที่เรียกว่า allergen แล้วมีการสร้างสารต่อต้าน หรือสารก่อการอักเสบขึ้นจนทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ต่างๆ
ปัจจุบันนี้วิทยาการทางการแพทย์ก็พยายามจะตรวจสอบสารก่อภูมิแพ้ในร่างกายผู้ป่วย ซึ่ง หนึ่งในนั้นที่เป็นที่นิยมคือ การตรวจสารก่อภูมิแพ้ที่ผิวหนัง หรือ skin prick test โดยจะมีการฉีดสารก่อภูมิแพ้ที่สกัดจากแหล่งต่างๆ เช่น ขนสัตว์ ไรฝุ่น แมลงสาบ แล้วดูว่าเกิดปฏิกิริยาบวมแดงที่ผิวหนังขึ้นที่จุดใดก็จะบอกว่าเรามีภูมิแพ้ต่อสิ่งนั้น
แต่ในความเป็นจริงพบว่าคนไข้หลายๆ ท่านได้รับการตรวจเช่นนี้และลองพยายามหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้ที่ได้ตรวจมาแล้ว ก็พบว่าตนเองก็ยังไม่ดีขึ้นหรือยังมีอาการภูมิแพ้ที่ต้องใช้ยาแก้แพ้ต่างๆ ตลอด มาปรึกษาเป็นประจำ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น??
คำตอบคือ การตรวจ skin prick test ที่กล่าวไปแล้วนั้น เป็นการตรวจปฏิกริยาภูมิแพ้ ที่ผ่านกลไกของ IgE (immunoglobulin E) ซึ่งเป็นปฏิกิริยาของเม็ดเลือดขาวที่แสดงผลแพ้แบบเฉียบพลัน แต่ในร่างกายเราเองนั้น ยังมีปฏิกิริยาอีกรูปแบบหนึ่งที่ซ่อนอยู่และเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นแบบช้าๆ หลังร่างกายรับสารก่อภูมิแพ้อย่างน้อย 1-2 วัน ที่เรียกว่า delay type hypersensitivity ครับซึ่งจะเป็นกลไกผ่าน IgG (immunoglobulin G) ซึ่งส่วนใหญ่สารก่อภูมิแพ้กลุ่มนี้ มักเกิดจากอาหาร
ในทางเดินอาหารของมนุษย์นั้น จากช่องปาก จนถึง รูทวาร มีความยาวมาก ประมาณ 10-12 ฟุตทีเดียว โดยเฉพาะในลำไส้เล็กที่มีการขดตัวไปมาร่วมกับการมีปุ่มเล็กๆ ในเยื่อบุลำใส้ด้านในมากมายเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวในการย่อยการดูดซึมอาหาร ซึ่งกล่าวกันว่าถ้ามาตีแผ่เป็นแผ่นบางๆ จะมีความกว้าง พอๆ กับครึ่งสนามฟุตบอลทีเดียว และในทุกๆ ตารางมิลลิเมตรของพื้นที่ดังกล่าวนั้น ใต้เยื่อบุผิวก็มีการรวมกลุ่มของเม็ดเลือดขาว หรือ lymphoid follicle ค่อนข้างมาก จึงกล่าวได้ว่าในลำไส้ของเราแล้วมีโอกาสสัมผัสกับสารแปลกปลอมที่มาจากอาหาร และเกิดปฏิกิริยาก่อภูมิแพ้เป็นอันดับต้นๆของร่างกายเลยก็ได้ทีเดียว
ดังนั้นถ้ามีสาเหตุใดๆ ก็ตามที่มีผลทำให้เซลล์เยื่อบุผิวในลำไส้เล็กเกิดการระคายเคืองเรื้อรังได้ ก็จะทำให้สารอาหารหรือ เปปไทด์โมเกุลใหญ่ๆ ที่ย่อยไม่สมบูรณ์ เกิดหลุดลอดเข้าไปทำปฏิกิริยากับเม็ดเลือดขาวจนเกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ดังกล่าวได้ ซึ่งเราเรียกภาวะที่เกิดแบบนี้ว่าภาวะลำไส้รั่วซึมหรือ leaky gut syndrome
สาเหตุดังกล่าวนั้นได้แก่
1. การเคี้ยวอาหารเร็วกลืนเร็ว
2. ระบบการย่อย สร้างน้ำย่อยจากทางเดินอาหาร ตับอ่อนเริ่มเสื่อมลงทำให้อาหารที่ย่อยไม่ดีตกค้างนานก็บูดเน่าเป็นสารพิษได้
3. ยาแก้ปวดเช่น diclofenac ibuprofen ponstan หรือ ยาปฏิชีวนะที่ไปทำลายสมดุลแบคทีเรียในลำไส้
4. อาหารที่ร่างกายมีปฏิกิริยาแพ้
5. ยาฆ่าแมลงในผักผลไม้ โลหะหนักที่อาจปนเปื้อนมาจากอาหารทะเล น้ำดื่ม หรืออนุพันธ์ของสารปรอทที่เริ่มเสื่อมมาจาก amalgam หรือที่อุดฟันเงินๆในช่องปากก็เป็นสาเหตุได้
6. ความเครียด และอารมณ์ที่แปรปรวน จะส่งผลต่อทางเดินอาหารทำให้การย่อยแย่ลง และมีผลต่อภูมิต้านทานโดยตรงอีกด้วย
อาการเฉพาะที่ผู้ป่วยอาจมีท้องอืด ท้องเฟ้อประจำ ขับถ่ายไม่ดี บางคนถ่ายเหลวบ่อยๆ บางคนท้องผูกเหมือนที่ใครๆเรียกว่าลำไส้แปรปรวน หรือ Irritiblie bowel syndrome
แต่อาการในระบบอื่นๆ ก็เกิดจากที่กล่าวไปคือสารโมเลกุลใหญ่ที่อาจหลุดลอดเยื่อบุลำไส้ไปทำปฏิกิริยากับเม็ดเลือดขาว เกิดเป็นสารก่ออักเสบเชิงซ้อน immune complex ไปกระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารอักเสบขึ้น จนไปมีผลที่ระบบต่างๆได้เช่น
- ไปที่ผิวหนัง เกิดผื่นคัน หรือมีสิวอักเสบ ขึ้นบ่อยๆ
- ไปทางเดินหายใจ คัดจมูก น้ำมูกไหล เสมหะในลำคอ หอบหืด
- ไปที่ข้อต่อ กล้ามเนื้อ เกิดปวดข้อ ข้ออักเสบ ปวดกล้ามเนื้อ fibromyalgia ได้
- ไปที่สมองและระบบประสาท ก็มีผลกับการนอนหลับ อารมณ์แปรปรวน หรือปวดศีรษะได้เป็นต้น
- ไประบบต่อมไร้ท่อ ก็อาจทำให้ฮอร์โมนแปรปรวนได้ง่าย
- รวมไปถึงการที่มีภาวะบวมน้ำง่ายขึ้น เช่น ขาบวมมือบวม น้ำหนักขึ้นง่ายเป็นต้น
ดังนั้นเราอาจใช้ยาแก้แพ้ แก้ปวดต่างๆก็อาจระงับอาการดังกล่าวได้เพียงชั่วครั้ง ชั่วคราวแต่ถ้าต้นเหตุยังมีอยู่เมื่อเราหยุดยา อาการภูมิแพ้ก็กลับมาอีกได้
แล้วเราจะทำอย่างไรเพื่อเป็นการดูแลรักษาที่ต้นเหตุ
1. ควรตรวจเลือดภูมิแพ้อาหารแอบแฝง แล้วหลีกเลี่ยงอาหารที่มีปฏิกิริยาดังกล่าว
2. ปรับสมดุลการย่อยและทางเดินอาหาร เช่น เคี้ยวอาหารนานๆ ก่อนกลืน หรือใช้ digestive enzyme ช่วยย่อยร่วมกับ probiotic ปรับสมดุลแบคทีเรียในลำไส้
3. ใช้ยาแก้ปวด หรือยาฆ่าเชื้อantibiotic ต่างๆ เท่าที่มีข้อบ่งชี้ และจำเป็นจริงๆ
4. ทำความสะอาด ล้างสารพิษตกค้างในลำไส้
5. ในรายที่มีอาการภูมิแพ้ที่เป็นมาก จะพิจารณาการใช้ยาแก้แพ้ในช่วงแรกเพื่อระงับอาการก่อน และพิจารณาการใช้ oxidation therapy เพื่อเสริมความแข็งแรงให้เม็ดเลือดขาว ร่วมกับใช้ วัคซีนภูมิแพ้โดยหลักการแบบ autohaemotherapy เข้าช่วยในการปรับสมดุลภูมิต้านทาน
6. ถ้าตรวจพบสาเหตุมาจากสารพิษโลหะหนักร่วมด้วย ก็จะพิจารณารักษาด้วยวิธี คีเลชั่นบำบัดร่วมด้วยโดยพิจารณาตามแต่ชนิดของโลหะหนักที่สะสมในร่างกายผู้ป่วยเพื่อลดการทำลายเซลล์จากสารพิษและอนุมูลอิสระ
7. สนับสนุนให้ร่างการเกิดการซ่อมแซมในะระบบต่างๆเช่น ทางเดินอาหาร ภูมิต้านทานโดยใช้ สารอาหารสกัดเช่น วิตามินเกลือแร่ต่างๆ สารต้านอนุมูลอิสระ กรดอะโนบำบัด เปปไทด์บำบัด เซลล์บำบัดหรือแม้กระทั่งโฮมีโอพาทีย์
8. ออกกำลังกายสม่ำเสมอทุกเช้า เพราะการกระตุ้นการเผาผลาญยามเช้าจะช่วยให้ต่อมหมวกไตทำงานได้ดีขึ้น ฮอร์โมนที่สร้างจากต่อมไร้ท่อนี้ จะทำงานปรับสมดุลภูมิต้านทาน และต้านการอักเสบได้ดีขึ้นด้วย
9. หมั่นทำใจให้สบายๆ ไม่เครียดเช่น นั่งสมาธิ เล่นดนตรี ฟังเพลง เพื่อช่วยลดภาวะภูมิต้านทานและลำไส้แปรปรวนจากความเครียด
ทั้ง 9 วิธีนี้เป็นเทคนิคการดูแลโรคภูมิแพ้แบบผสมผสานซึ่งทำให้ผู้ที่ได้รับการบำบัดมีทางเลือกในการดูแลรักษาและมีโอกาสหายขาดจากภูมิแพ้มากขึ้นครับ
อย่าลืมว่า “จอบด้ามเดียวทำสวนไม่สวยได้ฉันใด การรักษาภูมิแพ้ก็จะใช้แค่เครื่องมือใดเครื่องมือเดียวไม่ได้ฉันนั้น”
นพ.ศิต เธียรฐิติ
แพทย์ผู้มีประสบการณ์ด้านการแพทย์บูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย