ความสำคัญของอาหารและรูปแบบการใช้ชีวิต

อาหารที่มีไขมันเลวสูงมักจะกระตุ้นให้ร่างกายมีการอักเสบ อาจจะส่งผลต่อการเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดเป็นมะเร็งปากมดลูกได้ ควรเลี่ยงของปิ้งย่าง ไขมันจากสัตว์ที่นำมาผ่านความร้อนสูง เช่น หนังหมูทอด ควรเปลี่ยนมารับประทานไขมันดี เช่นน้ำมันโอเมก้า 3 หรือ 9

ควรให้ความสำคัญกับการรับประทานอาหารที่มีวิตามินเอ วิตามินซี แคโรทีน (Carotene) ลูทีน (Lutein) โฟเลท (Folate) วิตามินบี 1-6-12 เกลือแร่กลุ่ม สังกะสี ซีลีเนียม

การรับประทานอาหารตระกูลผักกาด (Cabbage family) เช่น กะหลํ่าปลี หัวผักกาด (Turnips) และผักเคล (Kale) และผักกาดชนิดต่าง ๆ จะมีสารสำคัญคือ I3C (Indole-3-carbinol) ซึ่งเมื่อรับประทานลงท้องไปแล้วจะเปลี่ยนไปเป็นสารสำคัญคือ DIM (Diindolylmethane) พบว่าทั้งสาร I3C และ DIM ล้วนเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีศักยภาพในการกระตุ้นเอนไซม์กลุ่มล้างพิษในร่างกาย ซึ่งยังพบข้อมูลในงานวิจัยว่าสารทั้งสองตัวช่วยเพิ่มการเปลี่ยนฮอร์โมนเอสโตรเจนไปอยู่ในรูปที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง เพราะมีการศึกษาพบว่าคนไข้ที่มีปัญหาระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูกแบบเปลี่ยนแปลงมาก (HGSILs) มักจะมีการใช้ฮอร์โมนเอสโตรเจนที่ไม่ดี โดยจะพบตัวเอสโตรเจนชนิดก่อมะเร็ง(16-hydroxyestrone) มากกว่าเอสโตรเจนต้านมะเร็ง (2-hydroxyestrone) แนะนำว่าหากไม่ค่อยได้ทานผักกลุ่มนี้ สามารถหาซื้อเป็นอาหารเสริมมาทานเพิ่มได้ โดยให้ มีสาร I3C ประมาณ 200-400 มก.ต่อวัน นาน 12 สัปดาห์

หากตรวจพบว่ามีการติดเชื้อไวรัสเอชพีวี (HPV) แนะนำให้ทานสารสกัดจากชาเขียว เพราะจากการวิจัยในห้องทดลองพบว่าสารสกัดจากชาเขียว (EGCG) สามารถช่วยขจัดเชื้อไวรัสเอชพีวีได้ โดยแนะนำให้ทานเป็นชนิดอาหารเสริม ขนาด 150-300 มก.ต่อวันนาน 12 เดือน

การปรับพฤติกรรมการใช้ชีวิต ลดปัจจัยที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเซลล์มะเร็งในร่างกาย เช่น หากเคยสูบบุหรี่ก็ให้หยุดสูบบุหรี่ และหากใช้ยาคุมกำเนิดแบบรับประทานก็ให้ปรึกษาการคุมกำเนิดด้วยวิธีอื่น ๆ นอนหลับให้ได้ 7-8 ชั่วโมง โดยเข้านอนไม่เกินเที่ยงคืน ดื่มน้ำเปล่าให้ได้มากกว่า 2 ลิตรต่อวัน และ ขับถ่ายของเสียจากร่างกายให้ได้ทุกวัน

การให้การดูแลแบบบูรณาการ

  • การให้การรักษาด้วยโอโซนบำบัด ผ่านทางเส้นเลือด หรือผ่านทางช่องคลอดหรือช่องทวาร ทุก 2 สัปดาห์ ต่อเนื่องนาน 12 สัปดาห์
  • การให้วิตามินซี (Megadose) ผ่านทางเส้นเลือด สัปดาห์ละ 1 ครั้งต่อเนื่องนาน 12 สัปดาห์
  • การใช้ Weber laser ทุก 2 สัปดาห์

เพราะมะเร็งปากมดลูก เป็นภัยร้ายของผู้หญิง เพียงแค่รู้จักหลีกเลี่ยงความเสี่ยง หมั่นสังเกตความผิดปกติ และรับมือด้วยการตรวจเช็กสุขภาพเป็นประจำก็จะช่วยให้รู้ทันภัยร้ายชนิดนี้ได้

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: ระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก (1)

 

Share