ระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก เป็นระยะที่มีการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ที่บริเวณผิวของปากมดลูกผิดปกติไป แต่ยังไม่นับว่าเป็นเซลล์มะเร็ง แบ่งเป็น เห็นการเปลี่ยนแปลงน้อย (ASC-US) ปานกลาง  (LGSILs) และเปลี่ยนแปลงมาก (HGSILs) ซึ่งจะใช้เวลา 10-15 ปี เซลล์ที่ผิดปกตินี้จึงจะกลายเป็นเซลล์มะเร็งปากมดลูก  ซึ่งหากพบความผิดปกติในระยะก่อนเป็นมะเร็งนี้สามารถรักษาให้หายขาดได้

มะเร็งปากมดลูกมีปัจจัยความเสี่ยงของการเกิดคือ

ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย

ประวัติการมีเพศสัมพันธ์กับบุรุษหลายคนโดยไม่ได้สวมถุงยางป้องกัน

ประวัติการติดเชื้อมาก่อนเช่น เชื้อไวรัสเริม เชื้อคลาไมเดีย เป็นหูดที่อวัยวะเพศ (เชื้อ HPV)

ประวัติการสูบบุหรี่ การใช้ยาคุม การตั้งครรภ์

ประวัติสภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง

เชื้อแปปิโลมา หรือเอชพีวี (HPV)

ระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือมะเร็งปากมดลูก มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชพีวีมาเป็นเวลานาน โดยเกิดจากการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่มีการป้องกัน ส่วนมากแล้วผู้ใหญ่ที่มีเพศสัมพันธ์ตามปกติ สามารถตรวจพบเชื้อได้ถึง 80% แต่อาจจะพบมีเพียงแค่ 10% ที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นมะเร็ง ขึ้นกับความแข็งแรงของภูมิคุ้มกันของคนไข้

นอกจากนี้พบว่ามีเชื้อเอชพีวีถึงกว่า 30 ชนิดที่เป็นสาเหตุให้เกิดหูดตามอวัยวะเพศ แต่ชนิดที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดเป็นเซลล์มะเร็งได้แก่ 16, 18, 31 และ 45  ในปัจจุบันได้มีการรณรงค์ให้มีการรับวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อนี้ได้ตั้งแต่ยังเด็กก่อนที่จะเริ่มมีเพศสัมพันธ์

แนวทางการดูแล

หากพบว่าปากมดลูกมีความผิดปกติเป็นระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก แนะนำให้ติดตามอาการด้วยการทำ Pap Smear ต่อเนื่อง

โดยมากหากเป็นระยะก่อนเป็นมะเร็งแบบที่เรียกว่าเปลี่ยนแปลงน้อย (Mild cervical dysplasia; Atypical cells of undetermined significance หรือ Low-grade squamous intraepithelial lesions) รอยโรคอาจจะหายไปได้เอง แต่หากพบว่าปากมดลูกมีเซลล์ที่เปลี่ยนแปลงไปมากกว่านั้นก็อาจมีการรักษาเพิ่มเติมตามที่แพทย์จะพิจารณา และคนไข้สามารถให้การดูแลตนเองแบบบูรณาการซึ่งเป็นการดูแลตนเองที่เน้นธรรมชาติบำบัดและมีความเสี่ยงต่อผลข้างเคียงน้อยเพิ่มเติมได้

เรื่องที่เกี่ยวข้อง: ระยะก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก (2)

 

Share