อาหารมีส่วนสำคัญอย่างมากในการป้องกัน และควบคุมการลุกลามของมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ สารอาหารจะช่วยให้พลังงานกับร่างกาย และเตรียมร่างกายให้พร้อมทั้งช่วงก่อน ระหว่าง และหลังการรักษา ในขณะเดียวกันเราสามารถกำหนดสารอาหารเพื่อให้มะเร็งหยุดการเติบโต และแบ่งตัวจากการขาดสารอาหารที่เซลล์มะเร็งต้องการได้ การทำเคมีบำบัดสามารถกำจัดเซลล์มะเร็งทั่วไปได้ แต่ไม่สามารถกำจัดเซลล์ต้นกำเนิดของมะเร็งได้ แต่การทำให้เซลล์มะเร็งขาดสารอาหารสามารถกำจัดเซลล์ต้นกำเนิดของมะเร็งได้
เซลล์มะเร็งใช้สารอาหารหลักสามอย่างในการสร้างพลังงาน แบ่งตัว และแพร่กระจาย สารอาหารที่เซลล์มะเร็งใช้มากที่สุดคือกลูโคส เมื่อร่างกายได้รับกลูโคสที่มาจากอาหารที่เป็นน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว เช่น ข้าวขาว ขนมปังขาว เครื่องดื่มที่มีรสหวาน น้ำผึ้ง และผลไม้ที่มีรสหวาน เซลล์มะเร็งจะนำกลูโคสที่ได้มานี้ไปใช้ด้วย กลูโคสจะทำให้เซลล์มะเร็งแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว น้ำตาลที่เพิ่มสูงขึ้นมากหลังมื้ออาหาร จะกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนอินซูลิน การหลั่งของฮอร์โมนอินซูลินนี้จะเป็นตัวเร่งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และสร้างเส้นเลือดใหม่ เพื่อลำเลียงสารอาหารมายังเซลล์มะเร็งมากขึ้น คำแนะนำจากเราคืองดน้ำตาล และรับสารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตจากคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่มีค่าดัชนีน้ำตาลต่ำแทน ซึ่งอาหารกลุ่มนี้จะกระตุ้นการหลั่งของฮอร์โมนอินซูลินน้อยกว่า
สารอาหารที่เซลล์มะเร็งมักจะใช้เป็นกลุ่มที่สอง คือ กลูตามีน (กรดอมิโนชนิดหนึ่ง) ซึ่งมีมากในเนื้อสัตว์โดยเฉพาะเนื้อแดง โดยเนื้อแดงจะมีทั้งกลูตามีนสูง และธาตุเหล็กสูงซึ่งเป็นสารอาหารที่เพิ่มการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง คำแนะนำจากเราจึงขอให้งดโปรตีนจากเนื้อสัตว์เพื่อลดการให้พลังงาน และการแบ่งตัวของเซลล์มะเร็ง แต่ให้รับประทานโปรตีนจากพืชแทน
แหล่งอาหารชนิดที่สามของเซลล์มะเร็ง คือไขมัน แต่พบว่าเซลล์มะเร็งส่วนใหญ่จะใช้ไขมันเป็นพลังงานน้อยมาก
จากการใช้สารอาหารของเซลล์มะเร็งข้างต้น เราจึงแนะนำให้หยุดการให้สารอาหารแก่เซลล์มะเร็ง โดยรับประทานอาหารประเภท คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ร่วมกับโปรตีนจากพืช และไขมันชนิดดีแทน
หลักสำคัญอีกอย่างในการชะลอการกระจายของเซลล์มะเร็ง คือการลดการอักเสบ อาหารที่เพิ่มการอักเสบให้กับร่างกาย ได้แก่ น้ำตาล ไขมันอิ่มตัว ไขมันจากสัตว์ นม และผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์แปรรูป อาหารที่อยู่ในบรรจุภัณฑ์สำเร็จ และ กลูเตน อาหารที่ช่วยลดการอักเสบในร่างกาย ได้แก่ เครื่องเทศต่าง ๆ ไขมันดี และผักหลากสี คำแนะนำจากเราคือ หลีกเลี่ยงอาหารก่อการอักเสบ และเลือกรับประทานอาหารที่ไม่ก่อให้เกิดการอักเสบในร่างกาย
คำแนะนำทั่วไป
- หลีกเลี่ยงนม ไข่ และผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ได้แก่ นมจากสัตว์ทุกชนิด โยเกิร์ต เนย ชีส เนื่องจากในนม และไข่ มีสารเร่งการเจริญของเซลล์ เช่น growth factors ชนิดต่าง ๆ ในปริมาณมาก รวมถึงในนม ยังมีโปรตีนเคซีน ซึ่งมักก่อให้เกิดการแพ้ และการอักเสบได้
- หลีกเลี่ยงอาหาร และผลไม้ที่มีรสหวาน เช่น เครื่องดื่มที่มีรสหวาน น้ำเชื่อมฟรุกโตส(มักผสมในเครื่องดื่มรสหวาน) น้ำอัดลม(รวมถึงชนิดที่ใช้สารทดแทนความหวาน) น้ำผลไม้ โดยยังสามารถรับประทานผลไม้ที่รสไม่หวานจัดได้ในปริมาณไม่มาก การรับประทานผลไม้จะยังมีกากใยที่ช่วยลดการดูดซึมของน้ำตาล และไขมัน ต่างจากการรับประทานน้ำผลไม้ที่จะไม่ได้รับกากใย น้ำตาลจะดูดซึมผ่านผนังลำไส้ได้อย่างรวดเร็ว
- หลีกเลี่ยง อาหารที่มีกลูเตน ได้แก่ ขนมปัง พาสต้า พิซซ่า พาย (มีแป้งสาลีเป็นส่วนประกอบ) มอลต์ บาร์เลย์
- รับประทานไขมันดี เช่น ถั่วเปลือกแข็ง น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว เนยถั่ว
- รับประทานคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่ไม่มีกลูเตน
- เติมเครื่องเทศลงในอาหาร (เครื่องเทศต่าง ๆ มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง)
- รับประทานโปรตีนจากพืช เช่น ถั่วเปลือกเข็ง และ ถั่วเปลือกนิ่ม
- ดื่มน้ำผักสีเขียวทั้งแบบมีกากใย และแบบแยกกากวันละ 250-500 มิลลิลิตร เพื่อให้ได้แร่ธาตุ และปรับสภาพร่างกายให้เป็นด่าง
- ดื่มน้ำกรองให้ได้วันละ 5-2 ลิตร
- นอนหลับสนิท 5-7 ชั่วโมง
- ออกกำลังกาย การเดินอย่างน้อย 10 นาทีหลังมื้ออาหาร จะช่วยให้ลำไส้เคลื่อนตัวดีขึ้น
- ลดความเครียด
แนะนำรับประทานอาหารที่ประกอบด้วยคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน โปรตีนจากพืช และไขมันดี
หลีกเลี่ยง เนื้อแดง ไขมันไม่ดี นม ผลิตภัณฑ์ที่ทำจากนม ไข่ และกลูเตน
คำแนะนำสำหรับการเตรียมอาหาร
- ควรเตรียมอาหารให้หลากหลายในแต่ละมื้อ (เหมือนเซตอาหารญี่ปุ่น)
- ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ออร์แกนิคให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
- ผัก ผลไม้สด ควรล้างด้วยน้ำผสมเบคกิ้งโซดา ผสมน้ำ 10 ส่วน และเบคกิ้งโซดา 1 ส่วน แช่ทิ้งไว้เป็นเวลา 15 นาที
- กลุ่มผักที่มีใบหยิก เช่น กะหล่ำดอก บรอกโคลี กะหล่ำดาว ควรทำให้สุกก่อนรับประทาน (การหั่น แล้วลวกประมาณ 4 นาที และกินร่วมกับมัสตาร์ดจะช่วยเพิ่มสารต้านมะเร็งไอโซไธโอไซยาเนทได้)
- หลีกเลี่ยงการกินอาหารที่ไม่ปรุงสุก เพื่อลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
- ผลไม้ที่มีเปลือกบางควรปอกเปลือกก่อนรับประทาน เช่น แอปเปิล
- ควรปรุงอาหารด้วยการนึ่ง ต้ม โดยใช้ความร้อนต่ำ (ไม่เกิน 100 องศาเซลเซียส)
- ไม่ควรปรุงอาหารด้วยการทอด ย่าง ปิ้ง อบ (ความร้อนสูง และไขมันจะเพิ่มสารก่อมะเร็ง)
- ควรเลือกใช้น้ำมันรำข้าว หรือ น้ำมันงา ในการผัด และน้ำมันมะกอก(extra vergin) น้ำมันแมคคาเดเมีย น้ำมันเมล็ดอัลมอนด์ น้ำมันเมล็ดชา หรือ น้ำมันเมล็ดแฟลกซ์ ในการทำสลัด
- ควรเลือกใช้น้ำมันที่ผลิตด้วยกระบวนการสกัดเย็น (cold press) จะดีกว่าน้ำมันพืชชนิดที่ผ่านกรรมวิธี
- หลีกเลี่ยงอาหารแปรรูป เช่น ซอสสำเร็จรูป ผงชูรส อาหารกระป๋อง ขนมปัง และพาสต้า
- ปรุงรสอาหารด้วยเครื่องเทศ และสมุนไพร เช่น ขิง กระเทียม ยี่หร่า ขมิ้น พริกไทย ช่วยเพิ่มสารต้านอนุมูลอิสระ
- สามารถใช้หญ้าหวานเพื่อเพิ่มรสหวานให้อาหารได้
- การนั่งรับประทานอาหารในท่านั่งหลังตรงจะช่วยให้อาหารเคลื่อนจากหลอดอาหารลงสู่กระเพาะอาหารได้ง่ายที่สุด และลดความเสี่ยงการสำลักอาหาร
- ควรใช้เวลาในการเคี้ยวให้นานขึ้น เพื่อให้อาหารละเอียด ง่ายต่อการกลืน
สารอาหารกลุ่มโปรตีนจากพืช เนื้อปลา ไก่
- โปรตีนจะช่วยเพิ่มจำนวนเม็ดเลือดขาว และเม็ดเลือดแดง
- โปรตีนช่วยเพิ่มกล้ามเนื้อ (เพิ่มน้ำหนักตัว)
- โปรตีนช่วยซ่อมแซมผนังลำไส้
- โปรตีนเป็นองค์ประกอบของเอนไซม์ต่าง ๆ ในร่างกาย
- พืชโปรตีนสูงที่ปรุงสุก 150 กรัมจะให้สารอาหารโปรตีน 20 กรัม
- เนื้อไก่-ปลา ขนาดประมาณ 1 ฝ่ามือ จะให้สารอาหารโปรตีน 20 กรัม (รับประทาน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์)
- สามารถเสริมโปรตีนผงที่ทำจากพืช 1-2 ครั้งต่อวัน
- โปรตีนส่วนที่เหลือควรมาจากพืช เลี่ยงโปรตีนจากเนื้อแดง ไข่ และผลิตภัณฑ์ที่มาจากนม
- ปริมาณสารอาหารโปรตีนในแต่ละมื้อควรอยู่ระหว่าง 15-25 กรัม
แหล่งของโปรตีนที่แนะนำ
- ถั่วเปลือกนิ่ม เช่น ถั่วเหลือง ถั่วขาว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเขียว ถั่วลูกไก่ เลนทิล
- ถั่วเปลือกนิ่มสุก 100 กรัม ให้โปรตีนประมาณ 9 กรัม
- ถั่วเปลือกแข็ง เช่น แมคคาดาเมีย วอลนัท เฮเซลนัท
- ถั่วเปลือกแข็ง 1 อุ้งมือ (ประมาณ 28-30 กรัม) ให้โปรตีนประมาณ 7 กรัม
- สาหร่าย
- โปรตีนผงที่ทำมาจากพืช
- นมที่ทำจากถั่ว เช่น น้ำเต้าหู้ นมถั่วเหลือง เลือกชนิดไม่ใส่น้ำตาล
- น้ำเต้าหู้ทำเอง 1 แก้ว ให้โปรตีนประมาณ 7 กรัม
- ผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลือง เช่น เต้าหู้ เทมเป้ นัตโตะ
- ถั่วเปลือกนิ่ม เช่น ถั่วเหลือง ถั่วขาว ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วเขียว ถั่วลูกไก่ เลนทิล
สารอาหารกลุ่มไขมันดี
- ไขมันดีจะช่วยต้านการอักเสบ
- ร่างกายสามารถใช้ไขมันดีเป็นแหล่งพลังงานได้
- ไขมันจะช่วยให้รู้สึกอิ่มท้อง
แหล่งไขมันดี
- น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา MCT oil
- น้ำมันมะกอก 1 ช้อนโต๊ะ ให้ไขมันประมาณ 14 กรัม
- นมถั่วชนิดไม่ใส่น้ำตาล
- กะทิ และน้ำมันมะพร้าว
- อะโวคาโด 1 ผลกลาง ให้ไขมัน ประมาณ 22 กรัม
- เนยถั่ว
- ถั่วเปลือกแข็ง เช่น แมคคาเดเมีย วอลนัท เฮเซลนัท
- ถั่วเปลือกแข็ง 1 อุ้งมือ (ประมาณ 28-30 กรัม) ให้ไขมันประมาณ 16 กรัม
- น้ำมันมะกอก น้ำมันรำข้าว น้ำมันงา MCT oil
สารอาหารกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน
- เป็นแหล่งพลังงานให้ร่างกาย
- คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอรี่ มันหวาน เผือก ฟักทอง ลูกเดือย
- อาหารประเภทข้าวเมื่อหุงสุกปริมาณ 1 ทัพพี จะมีคาร์โบไฮเดรต (แป้ง และน้ำตาล) ประมาณ 15 กรัม และ โปรตีนประมาณ 2-3 กรัม
- คาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนจะมีกากใย ช่วยชะลอการดูดซึมน้ำตาลเข้าสู่ร่างกาย และไม่กระตุ้นฮอร์โมนอินซูลินในปริมาณมาก
- หลีกเลี่ยงน้ำตาลโมเลกุลเดี่ยว เช่น ข้าวขาว เส้นก๋วยเตี๋ยว ขนมปังขาว น้ำตาล อาหาร และเครื่องดื่มที่มีรสหวาน
แหล่งอาหารคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน
- ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ข้าวไรซ์เบอรี่
- ควินัว
- มันหวาน
- เผือก
- ฟักทอง
ผลไม้รสไม่หวาน สามารถรับประทานได้ 1-3 ส่วนต่อวัน
- แก้วมังกร
- ผลไม้ตระกูลเบอร์รี่ เช่น สตรอเบอร์รี่ บลูเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ และกูสเบอร์รี่
- เสารส
- ชมพู่
- ฝรั่ง (หั่นเป็นชิ้นพอคำง่ายต่อการเคี้ยว)
- กีวี
ผลไม้ 1 ส่วน ได้แก่
- 2-3 ชิ้น ของ ขนุน ส้มโอ
- 4 ผล ของมังคุด เงาะ
- 5-6 ลำไย ลิ้นจี่ ลองกอง เบอร์รี่
- 6-8 ชิ้นของ แตงโม สับปะรด มะละกอ
- ½ ผล ของกล้วย ทับทิม แก้วมังกร ฝรั่ง
- 1 ผล ของแอปเปิลขนาดเล็ก กีวี เสาวรส
กรณีที่ต้องการรับประทานผลไม้ที่มีรสหวานจริง ๆ (แต่ไม่แนะนำ) สามารถเลือกรับประทานได้เพียงวันละ 1 ชนิด และรับประทานเพียงวันละ 1 ส่วน
การออกกำลังกาย
ควรออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน เช่น เดินวันละ 5,000-6,000 ก้าว พอให้มีเหงื่อซึม ๆ การมีเหงื่อออก เป็นการทำให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้น ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันของร่างกายได้ แต่ไม่แนะนำให้ออกกำลังกายอย่างหักโหม เนื่องจากจะเพิ่มความเครียด และการอักเสบให้ร่างกาย
ควรออกกำลังกายทั้งแบบคาร์ดิโอ และ weight training รวมกันไม่น้อยกว่า 150 นาที ต่อสัปดาห์ โดยการออกกำลังแบบคาร์ดิโอ จะช่วยเพิ่มความทนทาน กระตุ้นระบบหัวใจ และหลอดเลือดให้แข็งแรง ส่วนการออกกำลังแบบ weight training จะช่วยรักษา และเพิ่มขนาดของกล้ามเนื้อ ช่วยเพิ่มน้ำหนัก และช่วยให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้ดีขึ้น
ตัวอย่างการออกกำลังแบบคาร์ดิโอ เช่น เดินเร็ว ๆ วิ่ง ปั่นจักรยาน เต้นแอโรบิก
ตัวอย่างการออกกำลังแบบ weight training เช่น การวิดพื้น การยกน้ำหนัก การทำท่า squat การออกกำลังกายแบบ Pilates
นอกจากนั้นการยืดเหยียด เช่น การเล่นโยคะ การทำ stretching ก็จะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้ร่างกาย และลดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อ เมื่อทำหลังการออกกำลังกายแบบคาร์ดิโอ หรือ weight training
การออกกำลังกายแบบโยคะ ชี่กง ไทเก็ก ยังช่วยรักษาสภาวะจิตใจ คลายเครียด คลายกังวล เป็นผลดีต่อสุขภาพ
การจัดการความเครียด
ความเครียด และความกังวลต่าง ๆ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้นอนไม่หลับ และทำให้ระดับของเม็ดเลือดขาวลดลงได้ (จากอิทธิพลของฮอร์โมนเมื่อมีภาวะเครียด)
ควรทำจิตใจให้สงบ และผ่อนคลายอยู่เสมอ อาจทำด้วยการนั่งสมาธิ ฝึกลมหายใจ นวดผ่อนคลาย การแช่ตัวในน้ำอุ่น หรือ ออนเซ็น การออกกำลังกายแบบไทเก็ก หรือ ชี่กง
ตัวอย่างอาหารใน 1 วัน
อาหารเช้า ข้าวต้มปลา โรยขิงขูด ต้นหอม ผักชีสับละเอียด
อาหารว่าง โปรตีนผง ชงกับนมอัลมอนด์ ผลไม้รสไม่หวาน 1 จานเล็ก
อาหารกลางวัน ข้าวกล้อง แกงจืดเต้าหู้ ใส่ผักกาดขาว และเห็ด
อาหารว่าง ฟักทองนึ่ง โรยมะพร้าวขูดฝอย
อาหารเย็น สุกี้ไก่ และผัก